Thursday, November 02, 2006

ฟัง Pablo Neruda อ่านบทกวี

คลิ๊กเบา ๆ ตรงลูกศร















  • คืนนี้ฉันอาจเขียน....

    คืนนี้ฉันอาจเขียนบทกวีสุดแสนเศร้า

    เขียนเฉก “รัตติกาลแหลกสลายยับ
    ทั้งดวงดาวสีน้ำเงินสั่นเทิ้มมาแต่ไกล”

    ลมแห่งค่ำคืนคว้างและขับขานบนฟากฟ้า

    คืนนี้ฉันอาจเขียนบทกวีสุดแสนเศร้า
    ฉันรักเธอ และบางครั้งเธอก็หลงรักฉันเช่นกัน

    ตลอดคืนเฉกเช่นที่ฉันโอบเธอไว้ในอ้อมแขน
    พรมจูบเธออีกครั้งและอีกคราใต้ฟ้าสุดคณนา

    เธอรักฉันและบางครั้งฉันก็หลงรักเธอ
    เป็นไปได้ฤๅหากใครสักคนไม่หลงเสน่ห์ดวงตาเธอ

    คืนนี้ฉันอาจเขียนบทกวีสุดแสนเศร้า
    เพื่อทำใจให้ได้ว่าฉันไร้และรู้สึกให้ได้ว่าสูญเสียเธอ

    เพื่อสดับสรรพสำเนียงราตรีอันยาวนาน ที่ยังเพริศแพร้วแม้ไร้เธอ
    อีกบทกวีร่วงลงสู่ดวงวิญญาณดุจน้ำค้างหยาดหยดลงทุ่งหญ้า

    จะมีค่าอันใดเมื่อความรักของฉันมิอาจเก็บเธอไว้ได้
    รัตติกาลแหลกสลายยับและเธอไม่ได้อยู่เคียงข้าง

    ทั้งหมดนี้ ในที่ห่างไกลออกไปบางคนกำลังร้องเพลง ในความห่างไกล
    วิญญาณของฉันยังมิอาจพอใจที่ได้สูญเสียเธอไป

    สายตาของฉันเฝ้าค้นหาเธอราวกับจะสามารถไปยังเธอได้
    ดวงใจของฉันเฝ้าดูเธออยู่ และเธอก็มิได้อยู่กับฉัน

    ในค่ำเฉกคืนสีขาวเดียวกัน ต้นไม้ต้นเดิม
    เรา ณ ห้วงโมงยามนั้น อีกไม่นานจะเหมือนเดิม

    แม้ไม่อาจรักเธอได้เนิ่นนาน แต่แน่นอน ณ ขณะนี้ฉันรักเธอ
    เสียงของฉันพยายามค้นหาสายลมเพื่อสัมผัสการได้ยินแห่งเธอ

    อย่างอื่น เธอจะเป็นแบบอื่น เหมือนกับการจูบของฉันครั้งก่อน
    เสียงของเธอ ร่างอันขาวโพลน และดวงตาอันมิสิ้นสุดของเธอ

    แม้ฉันจะรักเธอได้ไม่นาน แต่แน่นอนที่สุด บางทีฉันรักเธอ
    ความรักนั้นแสนสั้น การลืมเลือนสิยาวนาน

    เพราะตลอดคืนเฉกเช่นนี้อีกครั้งที่ฉันโอบกอดเธอไว้ในอ้อมแขน
    ดวงวิญญาณของฉันที่มิอาจยอมรับว่าได้สูญเสียเธอไป

    ด้วยประการฉะนี้ คือความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาซึ่งเธอได้ตราไว้
    และเหล่านี้คือบทกวีบรรทัดสุดท้ายที่ฉันเขียนแด่เธอ

    จากTonight I Can Write...
    ของ Pablo Neruda


พาโบล เนรูด้า Pablo Neruda (1904-1973) ผู้ซึ่งชื่อจริง เนฟตาลี ริคาร์โด เรเยส บาซอลโต เกิด 12 กรกฎาคม 1904 ในหมู่บ้านริมทะเล ของเมือง พาร์รอล ประเทศชิลี บิดาของเขาเป็นคนงานสร้างทางรถไฟ มารดาของเขาเป็นครูซึ่งได้เสียชีวิตหนึ่งเดือนหลังจากเขาเกิด หลายปีต่อมาบิดาได้อพยพไปยังเมืองเทมูโคและแต่งงานใหม่ เนรูด้าได้รับการศึกษาประถมวัยในโรงเรียนประจำเมืองเทมูโค ซึ่งขณะนั้นกาเบรียลา มิสทรัล (ในช่วง 20 ต้น ๆ)เป็นครูสอนระดับประถมศึกษา เขาเริ่มเขียนบทกวีในวัยเยาวน์ถึงแม้ว่าครอบครัวของเขาโดยเฉพาะบิดาได้สั่งห้ามไม่ให้เขาเขียนบทกวี

ขณะอายุได้ 13 ขวบ ส่งบทกวีลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน"La Mañana" งานเขียนชิ้นแรกของเขาที่ได้ตีพิมพ์ Entusiasmo y Perseverancia

เพียงช่วงวัยแรกรุ่นเขาก็เขียนบทกวีเร้าอารมณ์แนวเซอร์เรียลิสต์ที่เข้มข้นแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงจากที่บิดาไม่อนุญาต เขาจึงใช้ชื่อ Pablo Neruda โดยเลือกชื่อต้นที่นิยมใช้เรียกกันในหมู่ชนชั้นกรรรมาชีพ ส่วนนามสกุลนั้นเป็นการระลึกถึง Jan Neruda (1834-1891)กวี นักเขียนนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ผู้ซึ่งได้ทำการต่อสู้เพื่อเอกราชของสหพันธ์สาธารณรับเชกและสโลวัก

หลังจากตีพิมพ์ Crepusculario (หนังสือยามพลบค่ำ,1923) ซึ่งเป็นหนังสือบทกวีเล่มแรก ปีต่อมางานเขียนที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในการแปล Veinte poemas de amor y una cancion desesperada (ยี่สิบบทกวีรักและหนึ่งบทเพลงแห่งความสิ้นหวัง,1924)ก็ได้ออกสู่สายตาสาธารณะชนในฐานะกวีหนุ่มผู้ครุ่นคิดและเข้มข้นด้วยความโรแมนติค

ขณะเดียวกันที่เขาสนใจและมุ่งมั่นทำกิจกรรมทางวรรณกรรม เขาได้เข้าศึกษาภาษาฝรั่งเศสและวิชาการสอนในมหาวิทยาลัยแห่งชิลี ณ นครซานติอาโก

ระหว่างปี 1927-1935 รัฐบาลชิลีได้แต่งตั้งให้เขาเป็นกงสุลกิติมศักดิ์ ทำให้เขาได้เดินทางไปยัง พม่า ซีลอน ชวา สิงค์โปร์ บัวโนสไอเรส บาร์เซโลนาและมาดริด ต่อมาในปี 1933 Residencia en la tierra (ที่พำนักบนผืนพิภพ)ซึ่งถือกันว่างานเขียนวรรณกรรมของเขาได้ถูกค้นพบ

สงครามกลางเมืองในสเปนและการฆาตรกรรมการ์เซีย ลอร์กา กวีชาวสเปนผู้ซึ่งเข้ารู้จักดี ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเขา จนถึงกับเข้าร่วมในขบวนการต่อสู้ และต่อมาได้ตีพิมพ์ España en el Corazón (สเปนในดวงใจข้า,1937)

1939 ได้รับความไว้วางใจให้เป็นกงสุลสำรับชาวสเปนผู้อพยพที่มาพำนักในปารีส และต่อจากนั้นไม่นานย้ายไปเป็นกงสุลใหญ่ประจำเม็กซิโก

ในปี 1943 เนรูด้ากลับสู่ชิลี และปี 1945 ได้รับเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกของสาธารณรัฐ และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชิลี ปี 1947 เขาประท้วงต่อต้านนโยบายประธานธิบดี ก็อนซาเลซ วิเดลลา ทำให้ต้องหนีหัวซุกหัวซุนใช้ชีวิตใต้ดินในประเทศเกิดถึงสองปี และที่สุดลี้ภัย ในปี 1949 จนล่วงถึงปี 1952 จึงกลับสู่มาตุภูมิอีกครั้ง

เนรูด้าประกาศชัดถึงความเป็นคอมมิวนิสต์คนหนึ่ง เขาเขียนบทกวีหลายบทสรรเสริญสตาลิน และเดินทางไปสหภาพโซเวียต และรับรางวัล Stalin Prize for Poetry ในปี 1953

ต่อมาเขาได้ตีพิมพ์ Cien sonetos de amor (หนึ่งร้อยโคลงกวีแห่งรัก,1959) ประกอบด้วยบทกวี Memorial de Isla Negra ซึ่งได้เขียนอุทิศแด่ความรักต่อมาทิลด์ เออรูเทีย ภรรยาคนที่สามของเขา

ในปี 1970 เนรูด้าประกาศตนขอเป็นตัวเลือกของประชาชนเพื่อเป็นประธานธิบดีแห่งชิลี หลังจากทราบแน่ชัดว่าคะแนนเสียงสนับสนุนของประชาชนเทให้กับซัลวาดอร์ อาเญนเด ก็อซเซน เขาจึงสละจากการเป็นคู่แข็ง และหันมาสนับสนุนอาเญนเดแทน

ปี 1971 เนรูด้าได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชฑูตชิลีประจำฝรั่งเศส

23 กันยายน 1973 ชีลีก็ได้สูญเสียกวีเอกนามอุโฆษ ผู้ซึ่งเป็นมะเร็งอยู่แล้ว เนรูด้าหัวใจล้มเหลวสิ้นชีวิต เขาตายสองสัปดาก่อนที่ กองกำลังภายใต้CIAจะคว่ำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอาเญนเดลง

Saturday, October 28, 2006

ปกกวีฉบับทดลอง

สวัสดีครับวันเสาร์อันแสนสุข

คลิกตรงภาพปก จะได้ภาพขนาดใหญ่ขึ้นครับ จะได้ชมกันถนัด ๆ ตา
Cover Design by White Rose






New Dawn : Matti Paalanen

Friday, October 27, 2006

พิมพ์เขียว นิตยสารกวีเล่มใหม่




Live! Poet Society ชื่อนี้ตั้งเป็นตุ๊กตาไว้ก่อน ยังไม่สรุปทีเดียวว่าจะต้องชื่อนี้ อยากได้ชื่อพยางค์เดียวจำง่าย เช่น Howl Live! Poet Tarantula เป็นต้น ชื่ออาจเป็นภาษาไทยก็ได้ แต่ต้องอ่านแล้วรู้สึกไม่เชย
รายสามเดือน เล่มละ 100-150 บาท(ต้องดูขนาด จำนวนหน้าอีกทีหนึ่ง)
ขนาดเท่านนิตยสาร Granta เล็กกว่า A4 แต่ใหญ่กว่า พ็อกเก็ตบุค
จัดทำโดย : ชมรมกวีมีชีวิต! : เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย
บรรณาธิการ : (............)
ที่ปรึกษา : อุชเชนี, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วิทยากร เชียงกูล, วารี วายุ, เสถียร จันทิมาธร, นายพรานผี, เสรี ทัศนศิลป์
ไพลิน รุ้งรัตน์, สถาพร ศรีสัจจัง, แสงดาว ศรัทธามั่น, ประกาย ปรัชญา, กิริยากร, พินิจ นิลรัตน์ , พิเชฐ แสงทอง,นพดล ปรางค์ทอง
* * * เล่มแรก แถม Heart of Indy * * * กวีอยู่ที่ใจ * * * CD บันทึกเสียงกวีสดๆ




สารบัญ :

1.กวีไทย

1.1 คอลัมน์ประจำ
1.1.1 จินตนาการสามบรรทัด : สุชาติ สวัสดิ์ศรี
1.1.2 แคนโต้ : ฟ้า พูลวรลักษณ์
1.1.3 กวีต้นแบบ : กวีนอกซีไรต์
1.1.4 ซีไรต์ โซไซตี้ : บทกวีรับเชิญจากกวีซีไรต์ : งานใหม่
1.1.5 ............................
1.1.6 กวีหน้ารามฯ : บทกวีรับเชิญจากกวีหน้าราม
1.1.7 ชมรมวรรณศิลป์ : ชมรมวรรณศิลป์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ : ชิ้นงาน-ข่าวคราว
1.1.8 สมาคมนักกลอน : คณะกรรมการสมาคมนักกลอน
1.1.9 กวีคีตะ : เนื้อเพลงที่น่าสนใจ
1.1.10 กวีทัศน์ : ภาพยนตร์ที่มีลีลากวี

1.1.11 กวีวิพากษ์ : วิจารณ์รวมเล่มกวีนิพนธ์
1.1.12 กวีแกลลอรี่ : ชวนเที่ยวนิทรรศการศิลปะ
1.1.13 กวีซุบซิบ : Gossip News
1.1.14 กวีวิชาการ : บทความจากนักวิชาการวรรณกรรม
1.1.15 กวีเด็ก : กลอนวัยรุ่น, sms, กวีฝาผนัง
1.1.16 วรรณรูป : เช่น จ่าง แซ่ตั้ง, วิภาส ศรีทอง, สุภาพ พิมพ์ชน
1.1.17 การ์ตูน



1.2 บทสัมภาษณ์กวี

1.3 พื้นที่ตีพิมพ์

1.3.1 คัดสรรกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้ามา ลงฉบับละ 10-15 ชิ้น (กำลังงติดต่อ ไพลิน รุ้งรัตน์)
1.3.2 ประกอบความเห็นของผู้คัดสรร
1.3.3 ประดับดาว : 3 รางวัล : 1, 2, 3
1.3.4 สิ้นปี คัดเอา ที่ 1,2,3 มา แล้วตั้งคณะกรรมการตัดสิน(4 เดือนx 3=12 ชิ้นในรอบสุดท้าย)
1.3.5 มอบรางวัลกวียอดเยี่ยม, รองอันดับ1 และรองอันดับ 2 พร้อมทั้งรางวัลกวีเกียรติยศประจำปี


2.กวีเทศ

2.1 คอลัมน์ประจำ
2.1.1 ความเคลื่อนไหวในรอบเดือน
2.1.2 กวีนิพนธ์แปล : 5 ชิ้น พร้อมประวัติย่อกวีเทศ
2.1.3 ความก้าวหน้าของรางวัลกวีในต่างประเทศ
2.1.4 British Counsil
2.1.5 About Caf้

กิจกรรม
1. แถลงข่าวเปิดตัว
2. มอบรางวัลประจำปี
3. อ่านบทกวีประจำเดือน



มีข้อเสนอเพิ่มเติม-

1.บทกวีในตำนาน
2.กวีที่หายไป-กวีที่เคยเป็นกวี
3.ที่มาของนามปากกา
4.จดหมายจากผู้อ่านถึงกวี หรือกวีเขียนจดหมายถึงผู้อ่านหรือถึงใครก็ได้
5.ประสบการณ์เกี่ยวกับการส่ง การเบิกค่าบทกวี
6.สำรวจแผง


หมายเหตุ- ข้อความทั้งหมดเป็นเพียงพิมพ์เขียวที่ยังไม่ได้จัดแต่ง ตบแต่ง หากใครมีอะไรจะแนะนำ
เพิ่มเติมสนอความเห็นได้ หรือจะลดทอนที่มีอยู่แล้วก็ได้ คลิ๊ก Coment แสดงความเห็นโดยการคอเมนต์ลงในบล็อกนี่ หรือจะคลิ๊กแสดงความเห็นในกระทู้ นิตยสารกวีเล่มใหม่

Thursday, October 26, 2006

อัลเลน กินสเบิร์ก : บุปผาที่ยังเบ่งบาน





เบื้องหลังของความเป็นจริง

บนลานริมทางรถไฟที่เมืองซานโฮเซ่
ฉันเดินย่างไปอย่างเดียวดาย
ตรงข้ามโรงงานสร้างรถถัง
และหย่อนกายนั่งลงบนม้านั่ง
ใกล้ที่พักพนักงานสับรางรถไฟ

ดอกไม้หนึ่งทอดตัวบนหญ้าแห้ง
บนทางหลวงลาดยางมะตอย
--ดอกไม้ เจ้าคงหวาดผวา
ฉันคิด--ก้านดอกสีดำดูเปราะบาง
และกลีบในสีเหลืองมอซอ
คราบสีเหลืองดั่งมงกุฎเหนือเศียร
องค์พระเยซู และเปรอะเปื้อน
เหมือนก้อนสำลีแห้งกรัง
ที่ใช้เช็ดหลังโกนหนวด
ซึ่งทิ้งอยู่ในโรงรถมาแรมปี

เหลือง ดอกไม้สีเหลือง และ
ดอกไม้แห่งอุตสาหกรรม
ดอกอุบาทว์ กลีบกระด้างแหลมคม
ถึงอย่างนั้นดอกไม้
รูปทรงนั้นเป็นกุหลาบเหลืองมโหฬาร
เบ่งบานในพื้นที่สมองคุณ
นี่แหละ ดอกไม้ของโลก

ซานโฮเซ่ 1954

ซะการีย์ยา อมตยา แปล
จาก In Back of the Real
ของ Allen Ginsbirg



อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsbirg,1929-1997) กวีร่วมสมัยผู้โด่งดังในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน เกิดเมื่อปี 1926 ที่นิววาร์ค มลรัฐนิวเจอร์ซี ปี 1948 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และที่นั่นเขาเริ่มเขียนบทกวี กินสเบิร์กเคยทำงานหลายอาชีพ เช่น พนักงานโกดังสินค้าเรือ ช่างเชื่อม คนล้างจ้าง กระทั่งยามเฝ้าประตู


ที่ซานฟรานซิสโกกินสเบิร์กและเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นแกนนำกลุ่มวรรณศิลป์ Beat (เป็นกลุ่มวรรณศิลป์ทวนกระแสโด่งดังและมีบทบาทสำคัญทางวรรณศิลป์ในยุค'50 เป็นการรวมตัวกันของกวีและนักเขียนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความสนใจ ความเชื่อ ความสำนึกทางสังคมและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ร่วมบุกเบิกสร้างงานวรรณศิลป์ วิพากษ์สังคมที่กำลังเสื่อมสลายด้วยหวังว่ากวีนิพนธ์จะสามารถกระตุ้นสำนึกอเมริกันชนให้กลับมาสู่ชีวิตทางจิตวิญญาณ)


ผลงานกวีนิพนธ์เล่มแรกของกินสเบิร์ก Howl (หอน,1955) ฉบับที่พิมพ์ครั้งแรกทั้งหมดถูกทางการจับยึดด้วยข้อหาใช้คำหยาบโลน ภายหลังเสร็จสิ้นคดีฟ้องร้องต่อศาลเทศบาลเมืองซานฟรานซิสโก ผลงานดังกล่าวจึงได้วางจำหน่ายอีกครั้ง และถือเป็นปฐมถ้อยแถลงการณ์ Manefestation ของกลุ่ม Beat ต่อแวดวงกวีนิพนธ์อเมริกัน และกลายเป็นกวีนิพนธ์ที่มีการอ่านอย่างแพร่หลายที่สุดในรอบศตวรรษ มีการแปลมากกว่า 22 ภาษา


กินสเบิร์กมีบทบาทสำคัญในการทำให้กวีนิพนธ์ขัดกับขนบดั้งเดิมทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบการใช้คำ ตลอดจนการนำเสนอจินตภาพ ผลงานของเขากลายเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นในกลุ่มนักอ่าน เนื้อหาว่าด้วยการต่อต้านสังคม การเมือง การวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างและกฎเกณฑ์ของสังคมและการเมืองอย่างรุนแรง ขณะสงครามเวียดนามกำลังคุกรุ่น เขาเคยถูกจับในฐานะผู้นำการประท้วงต่อต้านนโยบายเข้าร่วมสงครามของรัฐบาลอเมริกัน โดยสนับสนุนการให้อิสรภาพไร้ขอบเขต ทั้งในเรื่องการแต่งกายและความประพฤติ เขาเคยเปลื้องผ้าอ่านกวีนิพนธ์ต่อหน้าสาธารณชน และแม้เขาจะสนับสนุนการใช้ยาเสพติดอย่างเสรีก็ตาม แต่เขานับเป็นกวีคนแรกๆ ที่แสดงความห่วงใยในเรื่องนิเวศวิทยา ดังกล่าวเขายอมรับว่ากวีนิพนธ์บางบทใน Howl ถูกเขียนขึ้น ขณะเขาตกอยู่ใต้อิทธิพลของยาเสพติด


ระหว่างปี 1960 และ 70 จากการที่กินสเบิร์กสนใจศึกษาทางจิต ภายใต้การอบรมของเหล่ากูรูและปรมาจารย์เซ็น ผลงานของเขาส่วนใหญ่จึงสะท้อนทัศนคติของตะวันออกโดยมองผ่านสามัญสำนึกตะวันตก การถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาอเมริกันที่ตรงไปตรงมาและบางครั้งหยาบคายซึ่งดูเหมือนกวีมีจุดประสงค์ที่จะทำให้ผู้อ่านและผู้ฟังตะลึงงัน เขากล่าวว่า เขาใช้ภาษาที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน


กินสเบิร์กใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในยุโรปและตะวันออกไกล และยึดนิวยอร์กเป็นที่พำนักสุดท้าย ในช่วงปัจฉิมวัย เขาเป็นศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นประจำวิทยาลัยบรู๊คลีน และถึงแก่กรรมที่นิวยอร์ก ซิตี้ เมื่อปี 1997


ในช่วงชีวิตของกินสเบิร์ก เขาได้รับรางวัลทางวรรณกรรมหลายรางวัล เช่น The Woodbury Poetry Prize, A Guggenheim fellowship, The National Book Award for Poetry, NEA Grants และรางวัลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตจาก The Before Columbus Foundation งานประพันธ์ของกินสเบิร์กถูกจัดให้อยู่ในระดับเดียวกับงานของมหากวีอย่าง Thoreau, Emerson และ Whitman


และถูกกล่าวขานในฐานะผลงานที่บรรจุไว้ด้วยขนบความรู้อันเก่าแก่

นอรเวเจียนวู๊ด(นกน้อยได้บินจากไปแล้ว)
















ครั้งหนึ่งผมเคยมีเธอ
หรือจะให้ถูก เธอเคยมีผม
เธอให้ผมดูห้องของเธอ
นอรเวเจียนวู๊ดมันไม่ค่อยดีเท่าไร ?

เธอขอให้ผมอยู่ต่อ
และบอกให้นั่งตรงไหนก็ได้
ดังนั้นผมจึงมองไปรอบรอบ
และพบว่าที่นี่ไม่มีเก้าอี้สักตัว

ผมจึงนั่งลงบนพรม รอเวลา
พลางดื่มไวน์ของเธอ
เราคุยกันจนถึงตีสอง แล้วเธอเอ่ยขึ้นว่า
“ได้เวลานอนแล้ว”

เธอบอกว่าเธอต้องทำงาน
ในตอนเช้า และเริ่มหัวเราะ
ผมบอกเธอว่า ผมไม่ได้ทำงาน
และคลานออกไปนอนในอ่างอาบน้ำ

และเมื่อตื่น ผมอยู่คนเดียว
นกน้อยได้บินจากไปแล้ว
ผมเลยจุดไฟ
นอรเวเจียนวู๊ดมันไม่ค่อยดีเท่าไร ?

ซะการีย์ยา อมตยา แปลจาก Norwegian Wood (This Bird Has Flown)
ของ Lennon/McCartney


Norwegian Wood (This Bird Has Flown)
Lennon/McCartney

I once had a girl
Or should I say she once had me
She showed me her room
Isn't it good Norwegian wood?

She asked me to stay
And she told me to sit anywhere
So I looked around
And I noticed there wasn't a chair

I sat on a rug biding my time
drinking her wine
We talked until two and then she said
"it's time for bed"

She told me she worked
in the morning and started to laugh
I told her I didn't
and crawled off to sleep in the bath

And when I awoke I was alone
This bird had flown
So I lit a fire
Isn't it good Norwegian wood?



นอรเวเจียนวู๊ด คืออะไร? ยังคงเป็นปมปริศนาตลอดกาลไปพร้อมกับกระสุนที่ปลิดชีพเลนอน

มีนักวิจารณ์หลายคนพยายามแกะรอยว่ามันคืออะไรกันแน่?

มุราคามิ ใช้ชื่อเพลงนี้ตั้งชื่อนวนิยายของเขา แต่ก็มิได้กล่าวรายละเอียดของเพลงมากนัก
บอกเพียงว่าเขาได้ยินเพลงนี้ บางทีผมว่ามันต้องมีอะไรมากว่านั้น

หรือว่ามุราคามิ ซ่อนปรัชญาความคิดของบทเพลงในนิยายเขา?

บางคนบอกว่า นอรเวเจียนวู๊ด เป็นนิ๊กเนมที่เลนอนใช้เรียกยาเสพติดชนิดหนึ่ง

บางคนบอกว่า So I lit a fire หมายถึงเผาบ้านหญิงสาวที่เขาเคยรัก
แต่บางคนกลับคิดว่า มันน่าจะหมายถึง จุดบุหรี่ หรือ อะไรที่สูบได้
แล้วอุทานออกมาว่า Isn't it good Norwegian wood?
บ้างก็ว่า ไม้เกรดต่ำที่เอาไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกๆ
หรือว่าหมายถึง เตียง ?

หรือว่ามันหมายถึงยี่ห้อบุหรี่ชนิดหนึ่ง

มันคือสิ่งที่เลนอนทิ้งไว้เป็นจิ๊กซอว์ให้คนรุ่นหลังได้ปะติดปะต่อ
บางทีเราอาจต้องศึกษาชีวิตทั้งชีวิตของเขาเพียงเพื่อเข้าใจวรรคนี้ก็เป็นได้

ใครมีความรู้เรื่องนี้ ช่วยมาเล่าสู่กันฟังหน่อย? แลกเปลี่ยน ครับแลกเปลี่ยน

ป.ล.จอร์จ แฮริสัน บอกว่าตอนจะเล่นเพลงนี้ เขาไปซื้อซีตาร์ราคาถูกๆ ในย่านคนอินเดียในกรุงลอนดอน
แล้วเขามาร่วมบรรเลงทำนองกับเลนอนโดยไม่ได้หัดการเล่นมาก่อน เขาว่าเล่นโดยสัญชาตญาณ มันเป็นไปตามความรู้สึก
ซึ่ง มันทึ่งมาก อนึ่งแฮริสันเองช่วงนั้นก็เริ่มสนใจศาสนาจากอินเดียแล้วและจวบวาระสุดท้ายเขาตายด้วยความเชื่อจากภารตะ

Baudelaire ของ Serge Gainsbourg



Charles Baudelaire     Charles Baudelaire (1821-1867) กวีผู้เรืองนามชาวฝรั่งเศส นอกจากจะเป็นกวีแห่งความโศกศัลย์แล้ว ยังเป็นนักวิจารณ์งานศิลปะและนักแปลอีกด้วย ในสมัยที่เขามีชีวิตอยู่ แม้แต่กวีด้วยกันยังกังขาในผลงานของเขา

    แต่ทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่างานของโบดแลร์เป็นกวีระดับคลาสสิคที่ยังคงมีอิทธิพลถึงปัจจุบัน

Serge Gainesbourg     เพลง Baudelaire ของ Serge Gainesbourg (1928-1991) นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส นำเนื้อเพลงมาจากบทกวีของ Charles Baudelaire ชื่อ Le serpent qui danse (งูเริงระบำ)

    Le serpent qui danse เป็นหนึ่งในหนังสือรวมบทกวีชื่อ Les Fleurs du Mal อันเลื่องลือ

กดลูกศรข้างล่างเพื่อฟังเพลง

















Que j'aime voir, chère indolente,
แม่นางผู้เฉื่อยชา พี่ชอบดู
De ton corps si beau,
เรือนร่างอันสวยสดของเจ้า
Comme une étoffe vacillante,
ที่งามงดดั่งแพรพรรณพริ้วไหว
Miroiter la peau !
ระเรืองระยับกับผิวกาย

Sur ta chevelure profonde
บนเรือนผมดำล้ำลึก
Aux âcres parfums,
กรุ่นกลิ่นน้ำปรุง
Mer odorante et vagabonde
ดั่งทะเลที่หอมหวลและกำจาย
Aux flots bleus et bruns,
ไปตามสายน้ำสีครามก่ำน้ำตาล

Comme un navire qui s'éveille
ราวนาวีที่ฟื้นตื่น
Au vent du matin,
รับสายลมยามอรุณ
Mon âme rêveuse appareille
จิตใจช่างฝันของพี่ล่องเรือ
Pour un ciel lointain.

มุ่งสู่นภาแสนไกล

Tes yeux, où rien ne se révèle
ดวงตาเจ้าซึ่งไม่แจ้งให้ประจักษ์
De doux ni d'amer,
ว่าอ่อนหวานหรือขมขื่น
Sont deux bijoux froids où se mêle
เป็นอัญมณีเย็นเยือกที่ผสาน
L'or avec le fer.
ทองคำเข้ากับเปลวไฟ

À te voir marcher en cadence,
ยามยลเจ้าย่างเยื้อง
Belle d'abandon,
กรีดกรายเรื่อยเรียง
On dirait un serpent qui danse
สราญดั่งงูเริงระบำ
Au bout d'un bâton.
ที่ปลายกระบอง

Sous le fardeau de ta paresse
ใต้ความหนักอึ้งของความคร้าน
Ta tête d'enfant
ศีรษะเล็กเล็กของเจ้าไซร้
Se balance avec la mollesse
ส่ายไหวเนือยเนิบ
D'un jeune éléphant,
เหมือนช้างตัวน้อย

Et ton corps se penche et s'allonge
และเรือนร่างของเจ้า
Comme un fin vaisseau
ราวกับเรือลำเรียว
Qui roule bord sur bord et plonge
ที่ล่องโคลงเคลงแล้วล่ม
Ses vergues dans l'eau.
ใบเรือขวางลมจมลงน้ำ


Comme un flot grossi par la fonte
ราวสายน้ำที่ขนาดขยายจากการละลาย
Des glaciers grondants,
ของน้ำแข็งจอมคำราม
Quand l'eau de ta bouche remonte
เมื่อน้ำในปากเอ่อขึ้น
Au bord de tes dents,
ถึงขอบฟันของเจ้า


Je crois boire un vin de Bohême,
พี่นึกว่าได้ดื่มไวน์ร้อนแรง
Amer et vainqueur,
รสชาติฝาดฝานและฤทธิ์ล้ำ
Un ciel liquide qui parsème
เป็นท้องฟ้าเหลวที่โปรยปราย
D'étoiles mon coeur !
ดวงดาวในดวงใจ

แปลโดย อธิชา มัญชุนากร
ผิดพลาดขออภัย
เรียนเชิญแนะนำแก้ไขด้วยเจ้าค่ะ

Wednesday, October 25, 2006

บทกวีของ Hermann Hesse





Illustrate by Hermann Hesse


















ห้วงสมุทรยามราตรี

ณ ยามรัตติกาลครั้นห้วงสมุทรโอบกอดฉันไว้
และดวงดาวสลัวทอประกายแสงวูบวาบระยิบระยับ
ทาทาบฉาบลงบนฝูงระลอกเกลียวคลื่นขจรกว้างไกล
ฉันปลดปล่อยตัวเองอย่างอิสระเสรี หลุดโพ้น
จากมวลภารกิจและประดาความรักทั้งหลายทั้งปวง
แล้วยืนสงบนิ่งเงียบและหายใจอย่างแผ่วเบาพิสุทธิ์
โดดเดี่ยว,โดยลำพังโอบอุ้มด้วยห้วงสมุทร
ที่นั้น ตกอยู่ในบรรยากาศยะเยือกเย็นและสงัดวิเวกด้วยหนึ่งพันแสง
ดังนั้น ฉันจึงหวนระลึกคนึงถึงมวลหมู่มิตรสหาย
ในการเพ่งพิศฉันจ่อมจมลงในสายตาของพวกเขา
ฉันได้เอยถามแต่ละสิ่งเหล่านั้น ความเงียบ ความโดดเดี่ยว
เธอยังเป็นของฉันอีกไหม
ความสลดของฉันคือหนึ่งความทุกข์โศกถึงเธอ ความตายหนึ่งความตาย?
เธอรู้สึกถึงความรัก ความระทมทุกข์ของฉันไหม
ฤาเป็นเพียงลมหายใจหนึ่งเท่านั้น ฤาเพียงหนึ่งเสียงสะท้อนก้องเท่านั้น?
และห้วงสมุทรหันกลับมามองด้วยศานติท้น เงียบ
แล้วยิ้มล้นพลางตอบมาว่า : ไม่
และไม่มีความยินดีปรีดาใด และบัดนี้คำตอบนั้นมาจากทุกแห่งหน

~~~
ซะการีย์ยา อมตยา แปลจาก At Night On The High Seas ของ Hermann Hesse


~

ฝนใจ













Photograph by paul wittreich


ฝนโปรยสายโรยแล้วหลายรอบ
ส่งมอบไมตรีวิถีหนึ่ง
ชุมเย็นเป็นไปในคำนึง
ส่งถึงสักคนบนเส้นทาง

อาจเดิน นั่ง นอน เถิด...ก่อนหลับ
จงรับสายใยมิไกลห่าง
ลมฝนอาจหนาวโลมเบาบาง
เยือนทักทายบ้างตามเวลา

เม็ดฝนเป็นฝนเพื่อค้นฝัน
เป็นมิตรนิรันดร์...ปรารถนา
มอบความชุ่มฉ่ำแทนน้ำตา
แทนโลกศรัทธาขอบฟ้าไกล

สิ้นฝนสิ้นฝันโลกพลันจาก
ทิ้งความเหนื่อยยากเจียนป่วยไข้
ยังรอฝนพรำอยู่ร่ำไป
อยู่ในวิถีแห่งชีวิต

'กอนกูย'

ที่รัก...













Photo : mamasite.net

อดทนเพียงสามสิบนาที
รอให้เธอ...นางฟ้าของฉันได้แผลงฤทธิ์
ดั่งเนรมิตสรรพสิ่งเปลี่ยนแปร
ในชั่วพริบตา...


โอ...ที่รัก
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ฉันกลืนกินเธอ
ประดุจทาสผู้ต้องมนต์ดื่มด่ำใหลหลง
ยามเธอละลายหลอมรวมในกายฉัน
สรรพเคมีฉีดพล่านทั่วสรรพางค์กาย
คล้ายเธอติดปีกให้โบยบินจากโลกแห่งความจริง
กระชากอัตตาฉันร่วงกองอยู่บนพื้น
สาปทุกปรารถนา ทุกอารมณ์ ให้แน่นิ่ง

ไร้รัก,ไร้โลภ,ไร้โกรธ,ไร้หลง
มีเพียงความว่างเปล่า ทรงตัวอยู่ในความนิ่ง
ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่อาทรต่อสิ่งใดใด
ด้วยโลกทัศน์ผ่านแว่นตาอันใหม่
ฉันบอดใบ้ต่อสีแดงของเลือด
ไม่รู้สาต่อกลิ่นคาวและความตาย
ลอยล่องไปในโลกร้างท่ามกลางโกลาหล
มึนมึน เบลอเบลอ มึนมึน เบลอเบลอ มึนมึน เบลอเบลอ...

วันก่อนนั้น...อนารยชนก่อการร้ายร้ายที่กรือเซะ
สามสิบสองศพ...ฉันกลืนกินเธอ...
วันก่อนนั้น...อนารยชนก่อการร้ายร้ายที่ตันหยงลิมอ
สองนาวิกโยธินล่วงลับ...ฉันกลืนกินเธออีกครั้ง...
มาวันนี้...อนารยชนก่อการร้ายร้ายที่ปะนาเระ
ฆ่าพระเผาวัดวอดวาย...ฉันกลืนกินเธออีกครั้ง...และอีกครั้ง...
วันพรุ่งนี้...อนารยชนจะก่อการร้ายร้ายขึ้นที่ไหน
จะคร่าชีวิตใครใครอีกกี่ศพ...ฉันยังไม่รู้...ฉันยังไม่รู้เลย...

โอ...แอ็คติเฟด*ที่รัก
ครานี้ฉันขอกลืนกินเธอ
ล่วงหน้าก่อน สักเม็ดสองเม็ด
จะได้ไหมจ๊ะ.

....................................

ชาติวุฒิ บุณยรักษ์
ตุลาคม ๒๕๔๘

*เผยแพร่ต่อสาธารณะครั้งแรก ในงานอ่านบทกวีเพื่อสันติภาพ “โครงการบทกวีสำหรับปัตตานี” โดยโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ร่วมกับ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (28 มีนาคม พ.ศ.2549)

ออฟฟิศกลางกรุง : กิ้งกือบนชั้นที่ 13











Picture : matichon.co.th



เหนื่อย-มาอย่างไร-ใจจำสู้
หน่าย-อยู่อย่างไรแกล้งไม่เห็น
ทุกเช้าชีวิตชืดเย็น
เติมอุ่นใจเต้น-หนึ่งถ้วยกาแฟ

ต่อวันผันคืนให้ยืนยืด
จืดภาระงานกลับหวานแท้
เจือขม-กลมกล่อมปุ่มลิ้นแปร
หนึ่งถ้วยบัตรพลีแก่-หนึ่งชีวิต

เช้านี้...มิทันชง มิทันชิม
ลิ้นลิ้มเพียงรสชืด-จืดสนิท
ครุ่นเหมือน GURU-ไม่รู้คิด
ส่ำเสียงสะกิดโสตสำนึก

จากพื้นพรมในห้องของเจ้านาย
วี้ดว้าย-วายวุ่นทั้งตัวตึก
โลกเงียบจึงแพ้แก่อึกทึก
ลึกตื้นอย่างไรเลิกขบเค้น

พลัดหลงมาอย่างไร-ไม่เคยรู้
อยู่มาอย่างไร-ไม่เคยเห็น
เช้าหนึ่ง-ชีวิตชืดเย็น
เติมอุ่นใจเต้นด้วยกิ้งกือ

นพดล ปรางค์ทอง

อาณาจักรลึกซึ้งแสนไกล
















ให้อภัยแก่คนตาย... โปรดให้อภัยแก่ฉัน
คำวิงวอนจากวิญญาณลอยล่องเหนือหลุมศพคนเศร้า
ฉันมองลงมา ยังผู้จมหายในใบหน้าซีดเผือดของฉัน
ความถวิลหาทั้งปวงร่วงรินจากถ้วยชีวิตนั่น
หยาดน้ำตาเหือดแห้งแด่การโอบกอดครั้งสุดท้าย...
เจ้าหญิงและเจ้าชายดื่มด่ำยาพิษ
รถฟักทองไม่หวนกลับมา
เพราะดินแดนเทพนิยายแหลกลาญเสียแล้ว
ฉันปลีกตัวไปค้นหาอาณาจักรลึกซึ้งไกลแสนไกล...
ปล่อยใบไหม้แห้งลุกไหม้ในฤดูร้อน
จนวารวันเลยล่วง กระทั่งภูเขาไฟเหี่ยวเฉา
ใบไหม้แห้งย่อมถึงคราว... ซุกตัวสงบนิ่งใต้ผงคลีดิน
กลมกลืนอยู่ในกาลเวลา

ฉันปราศจากคำอธิบายเสียแล้ว... นอกจาก
ถ้อยคำสีทองเจิดจรัสชุบชีพใหม่
อิ่มเอิบในสายลมเปลี่ยวเหงา
ถักทอปีกขาวอ่อนนุ่มจากหมอกหนาว
คลี่แตะหมู่ดาว
จุดดวงตาคู่ใหม่
หากฉันปรารถนาจะลืมหรือจดจำดินแดนใด.

มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม

ห้วงสับสนในดอกฝนตอนบ่าย



-๑-
บ่ายคล้อยที่วสันตฤดูผ่านมาทักทายอีกครั้ง
ทั่วทุกอณูฟากฟ้าคลี่คลุมด้วยม่านแพร-ขาวหม่น
ความเศร้ารวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับก้อนเมฆสีดำ
โรยตัวสู่ซอกตึกและพื้นถนนคอนกรีต
ราดรดหัวใจของข้าฯ จนเปียกชุ่ม
หอมกลิ่นสรรพสิ่งฟุ้งผ่านหน้าต่างห้องเช่าชั้นสาม
แมวหนุ่มกำลังวิ่งไล่จิ้งจกบนหลังคาห้องแถว
ดอกฝนหล่นกระทบกระเบื้อง
ผุดดวงเป็นดอกบานระยุบระยับ
ข้าฯ ปรารถนาดอกฝนเหลือเกิน...

-๒-
กรุ่นควันกาแฟม้วนเกลียวเป็นเครื่องหมายคำถาม
ชีวิตที่เหลือค้างในโลกสมมติ
จะเอาอย่างไรกับมันดี?
ระหว่างทางสองแพร่งที่จำต้องเลือก
ใจหนึ่งยังตัดสายใยแสงสีแห่งเมืองไม่ขาด
อีกหนึ่ง-เพรียกหาความเรียบง่ายแสนงาม
ในผืนดินมาตุคามทุกห้วงยามหลับฝัน

-๓-
ข้าฯ ไม่ใช่นักโทษในห้องกักกันของเมืองหม่นแห่งนี้
และไม่ได้รอคอยการปลดปล่อยวิญญาณอิสระ
ประตูก็เปิดกว้างดั่งท้องฟ้า
มีสิทธิ์เลือกทางเดินด้วยตัวเองเต็มห้วงปรารถนา
แต่สองเท้าของข้าฯ...
ใยลังเล!
ในทุกจังหวะการก้าวย่างระหว่างทางของชีวิต
ใครกันแน่!
เป็นผู้เลือกและผู้ถูกเลือก
เมืองหรือมาตุคาม!

-๔-
ข้าฯ ปรารถนาดอกฝนเหลือเกิน...


‘มัคคุเทศก์ทางวิญญาณ’
พฤษภาคม
๒๕๔๙
:ระหว่างมองดอกฝนหล่นกระทบกระเบื้องหลังคาห้องแถวบ่ายวันหนึ่ง

Phot>A sheet of late afternoon rain falls:Tim Clayton

กวีกินบทกวี















To eat by Thibaud


ผมเขียนบทกวี
บทกวีผมได้ตีพิมพ์
ผมได้ค่าเรื่องบทกวี
ผมเอาตังค์ค่าบทกวี
ไปซื้อบทกวีตัวเอง
ที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ

ผมเขียนบทกวี
นานนานบทกวีได้ลง
ผมดีใจที่บทกวีตีพิมพ์
แถมผมได้ค่าบทกวี
ผมหิว เข้าเซ่เว่นอิเลเว่น
ซื้อบทกวีมาหนึ่งถุง
บทกวีหนึ่งกระป๋อง
แลบทกวีเป็นซอง

ผมเอาบทกวีใส่หม้อ
ใส่น้ำผสมบทกวีลงไป
ผมรอให้บทกวีส่งกลิ่นหอม
จนแน่ใจว่าบทกวีสุกแล้ว
จัดการตักบทกวีใส่จาน
บรรจงเปิดกระป๋องบทกวี
เปิดเครื่องปรุงบทกวีสีดำ
หยอดเคล้ากับบทกวีสีขาว
ผมกำลังกินบทกวี..บทกวี

ซะการีย์ยา อมตยา
๒๒ ตุลย์ ๔๙
GoStats stats counter
GoStats stats counter